สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย (ThaiBIO) โดย ดร.วสันต์ อริยพุทธรัตน์ นายกสมาคมเป็นผู้แทนสมาคมเข้าร่วมประชุมระดมสมองโดยมี น.สพ. รุจเวทย์ ทหารแกล้ว กรรมการสมาคมฯ เข้าร่วมประชุมในฐานะตัวแทนจากบริษัทเอกชน (บริษัท เครือเบธาโกร) และ ดร.พิมพ์นภา ณีศะนันท์ ผู้จัดการสมาคมฯ ติดตามเข้าร่วมการประชุมร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและเครือข่ายนักวิจัยโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวข้องกับวิทยาการด้านชีวภาพ ร่วมถอดรหัสไทยแลนด์ 4.0 แบบบูรณาการทั้งระบบงานวิจัยไปสู่การใช้งานเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศมุ่งสู่ Bioeconomy โดยมีท่านรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (รมว.) ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นประธานในการประชุม
การประชุมระดมสมองกำหนดทิศทางจัดขึ้นในเช้าวันเสาร์ 31 มีนาคม 2561 ณ ห้องประชุมหว้ากอ สวทน. โดยท่าน รมว.สุวิทย์ นัดตัวแทนจากแหล่งมันสมองชั้นนำของประเทศ ทปอ. สวทช. สวทน., สนช, วว, ศูนย์ความเป็นเลิศทางชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ตัวแทนจากภาคเอกชนที่มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนานำนวัตกรรม (RDI) มาพัฒนาองค์กร และสมาคม ทั้งหมดกว่า 30 องค์กร เข้าร่วมหารือ
ดร.สุวิทย์ เปิดประเด็นแรกด้วย การวางโครงสร้างการทำงานขององค์กรในกระทรวงเพื่อลดการทำงานที่ดูเหมือนจะซ้ำซ้อนของหน่วยงานโดยมีข้อมูลภาพจากการวิเคราะห์ทุนวิจัยจากรัฐในปัจจุบันของประเทศไทยมานำเสนอในที่ประชุม พบว่ามีความกระจุกตัวซึ่งแตกต่างกับลักษณะที่เกิดขึ้นในประเทศที่มีเทคโนโลยีชั้นนำอย่างเช่น ประเทศเยอรมันที่มีการกระจายตัวของทุน ซึ่งโดยทั่วไป ถ้าดูวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งหน่วยงานต่างๆ ตาม พรฎ. กฎหมาย หรือข้อบังคับการจัดตั้งแต่ละองค์กร จะมีความจำเพาะ มีการทำงานและหน้าที่ ที่ไม่ซ้ำซ้อนกัน แต่ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่รวดเร็วมากจนตั้งขบวนรับกันไม่ทันจึงต้องตั้งใจหาจุดอ่อน pain point ที่สำคัญ เพื่อบูรณาการทั้งระบบของหน่วยงานวิจัย และหน่วยงานให้ทุนทั้งหมดที่มีกระทรวงวิทย์ ฯ นี้เป็นต้นสังกัด โดยขณะนี้มีเจ้ากระทรวงลงมาดูแลเอง
คำถามที่ 2 เกี่ยวกับการวางทิศทางที่จะนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาสร้างอนาคตประเทศ: Bioeconomy อาจจะเป็นคำตอบที่สำคัญของอนาคตประเทศไทย โดยหน่วยงานวิจัยจะต้องหา “New technology frontier” “Next generation technology” มาตอบความต้องการของอุตสาหกรรมในอนาคต ความท้าทายที่เป็นปัจจัยสำคัญ อีกเรื่องคือการประสานงานกันของทุกหน่วยงานภาครัฐต้องทำงานเชื่อมโยงกันให้มากกว่าเดิม ผู้ปฎิบัติงานต้องขยับ mideset ให้มองปัญหาหรือความต้องการของผู้รับบริการเป็นความท้าทาย นำเอาหลัก คิดวิเคราะห์ และลงมือทำมาพัฒนางานตนเอง (Bottom up) โดยมี หัวหน้า ผู้อำนวยการ หรือผู้บริหารที่เข้าใจคอยกำหนดทิศทางและอำนวยความสะดวก (Top down) และควรเชิญชวนให้ภาคธุรกิจที่มีความพร้อม หรือ บริษัทใหญ่ (Big firm) ซึ่งมีศักยภาพเพียงพอ มีการพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตัวเองใช้หลักการของ CSR มาช่วยเพิ่มพูนเทคโนโลยีในการผลิต (Top up) เพื่อสร้างแพลตฟอร์มให้กับผู้ประกอบการ SME ที่จะเกาะเทคโนโลยีนำไปสร้างความเข้มแข็ง (โครงการ spearhead ของกระทรวงมีความใกล้เคียงกับ Top up idea แต่ให้เวลาดำเนินการน้อยไปหน่อยถูกแซวว่ากลายเป็น Spin head สำหรับผู้เขียนโครงการ)นอกจากนี้การปฏิรูปประเทศไทยนี้ จำเป็นต้องเปลี่ยน mindset ของภาคธุรกิจจากยุค “ข้ามาคนเดียว” ต่างคนต่างทำ กลายเป็นยุค “ร่วมด้วยช่วยกัน” อาจใช้ แนวทาง Open innovation ใครเก่งด้านไหนชวนกันมาทำด้านนั้น กลุ่มทุนใหญ่อาจเป็น Venture capital ลงทุนกับ Start up 10-20% และคอยเป็นพี่เลี้ยง เพื่อพัฒนาธุรกิจร่วมกับนักวิจัย Spin off ที่เก่งงานวิจัยแต่เป็นนักธุรกิจมือใหม่ สร้างธุรกิจใหม่ๆให้กับประเทศไทยซึ่งมีความเข้มแข็งใน bio-resources เป็นประเทศทีมี biodiversity สูง (Hot spot) เป็นทุนเดิม อย่างนี้จะทำให้ได้ Bioeconomy มานำเศรษฐกิจของประเทศได้ เพราะมีผู้ร่วมเล่น ร่วมทำ ผู้ประกอบการ รายเล็ก กลาง ใหญ่ เกิดขึ้น เป็น Ecosystem ได้ มิฉะนั้นจะกลายเป็นไทยแลนด์ 4.0 ที่ขับเคลื่อนด้วยกลุ่มทุนใหญ่
สำหรับประเด็นประชุมสุดท้ายเป็นเรื่อง การพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation, EECi): ตอบโจทย์ประเทศในการก้าวไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพได้หรือไม่
ซึ่งสมาคมได้เคยเข้าร่วมงานประชุมรับฟังความคิดเห็นแผนพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก 2-3 ครั้ง ในปี 2560 ที่จัดขึ้นโดย สวทช.ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการดำเนินการพัฒนา EECi ในการประชุมครั้งนี้ ตัวแทนจาก สวทช. ได้จัดทำสรุปประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อใช้ประกอบการทำแผนพัฒนา และเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรมของประเทศโดยเสนอเป็นการสร้าง BIOPOLIS ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมในอนาคตของประเทศ สร้างงานและเป็นมิตรกับคนในพื้นที่ได้ โดย BIOPOLIS นี้จะจัดตั้งใน EECi ที่ วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง บนพื้นที่ 800 ไร่ ภายในพื้นที่นี้ จะมี pilot plant และ โครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่เอื้อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมและปิด gap ของ dead of valley เพื่อให้ภาคเอกชนและหน่วยงานวิจัยที่เข้าไปจัดตั้ง สามารถใช้ประโยชน์จาก facilities ต่างๆ ได้ โดยในเบื้องต้นนี้ มีศูนย์ที่เสนอจะจัดตั้งใน BIOPOLIS จำนวน 4 ศูนย์ ได้แก่ Innovative Agriculture Center, Functional Ingredient Center, Chemical & Bioprocess Technology Center และ Medical Biotechnology center โดยศูนย์จะเน้นให้ผู้ที่เข้ามาอยู่ใน BIOPOLIS ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง และสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานรวมถึงความเชี่ยวชาญของนักวิจัยได้อย่างคุ้มค่าที่สุด
เพื่อเป็นการสนับสนุน Bioeconomy ของประเทศให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ทางสมาคมฯ ได้เตรียมการจัดทำหลักสูตร ’ไบโอสตาร์ทอัพ (BIO Startup)’ เพื่อสร้างความพร้อมและโอกาศในการสร้างธุรกิจฐานชีวภาพ สำหรับนักลงทุนที่สนใจธุรกิจฐานชีวภาพและต้องการรู้จักกับงานด้านไบโอเทคโนโลยีและนักวิจัยให้มากขึ้น รู้จักการสร้างตลาดและระดมทุนในแนวทางของสตาร์ทอัพ
ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวที่นี่ได้เร็วๆ นี้