สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพไทย (ThaiBIO) นำเสนอใจความสำคัญช่วงหนึ่งของการปาฐกถาจากงานสุดยอดการรวมพลผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสายเทคโนโลยีชีวภาพในเมืองไทยบนเวที ThaiBIO Talks ในงาน ThaiBIO Executive Luncheon 2020 ในวันที่ 23 มกราคม 2563
กิจกรรม ThaiBIO Talks ในช่วง Spacial talk เป็นหัวข้อที่คัดสรรมาพิเศษโดยอาจจะเป็นหัวข้อที่เป็นประโยชน์กับการทำธุรกิจไบโอเทค มีความทันสมัย อยู่ในความสนใจ เป็น และ หาฟังได้ไม่ง่ายนัก ซึ่งช่วงนี้ได้รับเกียรติจากแขกรับเชิญพิเศษ 2 ท่าน ที่เป็นอดีตเอกอัครราชทูตที่มีผลงานโดดเด่น และเป็นประโยชน์กับการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศเป็นอย่างยิ่ง
ท่านที่ 2 ฯพณฯ ท่านจักร บุญหลง อดีตเอกอัครราชทูตประจำประเทศอิสราเอล, นอรเวย์, เมียนมา ซึ่งท่านเป็นผู้มีจิตสาธารณะ เป็นนักปฎิบัติที่ลงมือทำทุกอย่าง ปัจจุบันยท่านทำงานที่ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) กรุณามาบรรยายในหัวข้อ “บทบาทของกระทรวงการต่างประเทศในการส่งเสริมความร่วมมือด้านนวัตกรรมกับต่างประเทศ” โดยท่านเล่าว่างานทูตและกระทรวงการต่างประเทศกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพในมุมของท่านก่อนหน้านี้ดูเป็นสิ่งที่ไกลกันมาก แต่พอได้มารู้จักกับ ดร.วสันต์ นายกสมาคมฯ พูดคุยกันจึงทราบว่า งานที่ท่านทำอยู่ มีความเกี่ยวข้องและสำคัญมากในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในเมืองไทย และยังส่งผลไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตได้ เพียงแต่ต้องเข้าใจว่าจะทำอย่างไร ท่านกรุณาแชร์ให้ฟังถึงหน้าที่ของทูตและกระทรวงการต่างประเทศซึ่งน้อยคนนักที่จะเข้าถึง
กระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศต่างๆ นั้นเป็นหน้าบ้านของประเทศไทย ท่านทูตทำหน้าที่ เคาะประตู สร้างความสัมพันธ์อันดี เจรจา ตลอดจนส่งเสริมประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และเทคโนโลยี โดยในประเทศที่พ๊ฒนาแล้ว เช่น อเมริกา ทำอย่างไรให้เอกชนเขามาลงทุน หรือ แม้การหาตลาดให้เอกชนไทย สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาก็มีการสนับสนุนให้เอกชนไทยได้ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน แม้เมื่อมีปัญหาก็เป็นหน้าที่สถานทูตต้องไปดูแล เจรจา สำหรับด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นส่วนหนึ่งของงานความร่วมมือทางวิชาการ ที่กระทรวงการต่างประเทศมีเป้าว่าจะทำอย่างไรจึงจะนำเอางานวิชาการ เทคโนโลยี นวัตกรรม หรือความรู้ศาสตร์ใหม่ใหม่ กลับเข้ามาให้คนไทย บริษัทไทย ได้ใช้ ซึ่งเป็นงานที่ต้องไปติดตามแสวงหาไม่ใช่จะเหมือนกันในทุกประเทศ ท่านยกตัวอย่างงานที่ท่านได้ ติดตามหาสุดยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีประเทศอิสราเอล พบว่าประเทศนี้มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำ อิสราเอลมีน้ำจืดอยู่แหล่งเดียว แต่สามารถใช้ได้อย่างเพียงพอทั่วถึงทั้งประเทศ, เทคโนโลยีการปลูกพืชในทะเลทรายจนสามารถเป็นพืชเศรษฐกิจส่งออกได้ในตลาดยุโรป และอเมริกา เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเทคโนโลยีที่น่าจะมีประโยชน์กับประเทศไทยมาก ท่านส่งรายงานกลับมา และพยายามผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ใช้งานแต่ยังไม่เป็นผล จึงกลับมาคิดและพบว่าต่อให้ผลักดันอย่างไรก็ไม่เป็นผลถ้าไม่มีเจ้าภาพฝ่ายไทยรับเทคโนโลยี เทคโนโลยีต้องมีคนอยากใช้ อยากได้และมีศักยภาพในการรับด้วยจึงจะเป็นผล ครั้งนั้นท่านเกือบถอดใจกับงานความร่วมมือทางวิชาการ การรับส่งเทคโนโลยี จนกระทั่งวันหนึ่งมีแพทย์ 2 ท่าน เดินทางมาจากประเทศไทยไปเข้าพบท่าน และได้ทราบว่าคุณหมอเดินทางมาอบรมเรื่อง trauma management ที่อิสราเอลซึ่งเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญที่สุดในเรื่องนี้ โดยมาด้วยทุนส่วนตัว จากวันนี้เองท่านจักรได้เริ่มทำโครงการสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการของกระทรวงการต่างประเทศของท่านอีกครั้ง โดยทำหน้าที่ติดต่อนำเอาผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศต้นทางต่างๆ ไปให้ฝั่งเจ้าภาพในเมืองไทยจัดอบรม และรับรองในส่วนเมืองไทย ท่านทำในอีกหลายๆ เทคโนโลยี จากหลายประเทศต้นทาง และขยายผลให้ไทยทำการอบรมให้กับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างสัมพันธ์อันดีได้อีกด้วย ท่านทิ้งข้อความให้กับ เอกชน และเจ้าภาพต่างๆ ในไทยว่า “พวกท่านต้องชี้เป้าที่ต้องการให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นทูตเจรจา อาจรวมกลุ่ม ตึกผลึกผ่านมาทางหน่วยงาน หรือ สมาคมฯ” รายละเอียดโครงการต่างๆ ความสนุกสนาน และความสุขจากการได้ช่วยคน ผ่านการบอกกล่าวจากท่านจักร สามารถติดตามได้จาก clip VDO
ในช่วงปล่อยของ (Free Talks) ผู้มีเกียรติทั้งผู้บริหารบริษัทสมาชิก และ ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยวิจัยแนวหน้าของไทยได้ให้เกียรติร่วมแชร์ประสบการณ์ รวม 5 ท่าน ได้แก่ คุณชาญณรงค์ แสงเดือน บริษัท ไบโอไดเวอร์ซิตี้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด, ศ.ดร. อรลิสา วังใน คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณ มารุต บูรณะเศรษฐกุล บริษัท ไบโอ เจเนเทค อินเตอร์เนชั่นเนล, คุณ วิฑูรย์ วงศ์หาญกุล บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด , ศ. ดร. ศันสนีย์ ไชยโรจน์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทางสมาคมฯ จะได้ เรียบเรียง และขอมา นำเสนอในตอนต่อไป