ผู้จัดการสมาคมไทยไบโอเข้าร่วมงาน Talent Mobility for Food Innovation 2017 ระหว่างวันที่ 24-25 มีนาคม 2560 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ …
นำภาพบรรยากาศและสรุปเนื้อหาจากการร่วมกิจกรรมบางส่วน รวมถึงข้อคิดเห็น มาฝากให้ติดตาม ในงานมีการจัดกิจกรรมต่างๆ (รายละเอียดในกำหนดการ) โดยได้มีโอกาสรับฟังเสวนาเรื่อง “พัฒนาสินค้าไทยด้วยทุนวิจัยจากภาครัฐ” โดยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ 5 ฝ่าย คือ สกว., สวทน., สวทช. สนช., และ สกอ.
จากการฟังเสวนาครั้งนี้ทำให้ทราบว่าในปัจจุบันมีโครงการส่งเสริมการสร้างงานนวัตกรรมเพื่อสร้างประโยชน์ในเชิงพาณิชย์สู่ภาคเอกชน จากหน่วยงานส่งเสริมภาครัฐอยู่หลายโครงการ โดยมีตั้งแต่
– การให้ทุนวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี, นักวิจัย/ผู้เชี่ยวชาญ (ทุน คปก., พวอ. จาก สกว., โครงการ Talent mobility จาก สกอ., IF databank จาก สวทน.),
– อำนวยความสะดวก สถานที่ infrastructure เครื่องไม้เครื่องมือ ห้องปฏิบัติการ (Talent mobility, Food innopolis จาก สวทน.)
– ข้อมูลการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมด้านการลงทุนเพื่อการประกอบการ (โครงการคูปองนวัตกรรม และ นวัตกรรมดีไม่มีดอกเบี้ย จาก สนช.) และ
– สิทธิประโยชน์เรื่องการลดหย่อนภาษี (เช่น Food innopolis ของ สวทน. โดยรับ สิทธิประโยชน์จาก BOI)
เมื่อนำข้อมูลสิทธิประโยชน์ต่างๆ เหล่านี้มาเชื่อมโยงกัน (โครงการ Talent mobility จากความร่วมมือ 3 ฝ่าย สกว.+สกอ.+สวทน., และ ITAP จาก สวทช.) พบว่าหน่วยงานภาครัฐมีโครงการส่งเสริมตั้งแต่ การสร้างนวัตกรรม พัฒนา ต่อยอดผลงานมาเป็นผลิตภัณฑ์จนถึงหาแหล่งเงินทุนที่ไม่มีดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการตั้งโรงงานผลิตสินค้านวัตกรรม… เห็นภาพความร่วมมือร่วมแรงกันของภาครัฐในโครงการ Talent mobility แบบนี้แล้วทำให้คิดว่างานสนับสนุนการสร้าง ธุรกิจนวัตกรรมในประเทศไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศคงจะก้าวหน้าขึ้นได้ในเวลาไม่ช้านาน
จากนั้นได้เข้าร่วมรับฟังการบรรยายพิเศษเรื่อง “ไขข้อข้องใจให้ได้ อย.” เสนอในมุมมองของวิทยากรผู้มีประสบการณ์กำหนดและตรวจมาตรฐานผลิตภัณฑ์ภาครัฐ เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการว่าเหตุที่การได้รับตรามาตรฐาน อย. ทำไมจึงบางครั้ง “เอายาก” ที่พอสรุปจับใจความได้ มีประเด็นดังนี้
1. Where am l ? หมายถึง ประเทศไทยในฐานะผู้ประกอบการ (ผปก.) เราคือใคร เป็นThailand 4.0 ได้จริงไหม เรามี smart-farmer/SME/entrepreneur/officer ที่พร้อมแล้วหรือ ยังเป็น 1.0 เป็นบุคลากรที่ใช้ IT ไม่เป็น ไม่รู้จักการหาข้อมูลใหม่ที่มีที่มาหรือแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ, ประเทศเรายังเป็นผู้ประกอบการรายเล็กๆ หรือ SME ที่ไม่มีการรวมกลุ่มกันเป็นส่วนใหญ่ มีผู้ประกอบการรายใหญ่ผลิตของถูก สินค้าเป็น mass or need? หรือเป็น OEM ที่รับจ้างผลิต ไม่มีแบรนด์และตลาดผู้บริโภคของตนเอง ซึ่งผลิตออกมาแล้วยังไม่รู้ว่าจะขายที่ไหน อย่างไร
2. Where will we go? รัฐบาลตั้งเป้าประเทศไว้ที่ Thailand 4.0 ถ้าตอบโจทย์ประเด็น ผปก. ด้านอาหารในปัจจุบัน ต้องรู้จักสร้างสินค้า Premium grade , Functional food และ Healthy food ซึ่งทุกตัว มีราคาดี, รู้จักการนำ waste มาทำเป็นสารสกัด เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า เช่น การสกัด omega 3 จากลูกตาปลาทะเล, ต้องสร้างแบรนด์เพื่อมีลูกค้าเป็นของตนเอง และเมื่อมีแบรนด์แล้วต้อง secured ก่อนที่บริษัทบางประเภทจะลักลอบนำเครื่องหมายการค้า ของเราไปจดลิขสิทธิ์ในประเทศคู่ค้าอื่น แล้วเราจะนำสินค้าตัวเอง ตราตัวเองไปผลิตขายไม่ได้เพราะผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ ต้องไปซื้อแบรนด์คืนด้วยราคาสูงมาก
3. มาตรการต่างๆ ที่ อย. มี เพื่อสนับสนุนให้มาตรฐาน เช่น การบริการยื่นแบบคำขอผ่าน auto e-submission , การเขียนมาตรฐานใหม่เพื่อรองรับสินค้าใหม่ๆ เช่น มาตรฐานสินค้า Premium , Functional food และ Healthy food ซึ่งทุกตัวจะมีมาตรฐานกำหนดคุณลักษณะรวมถึงวิธีการผลิตเฉพาะตัวและในแต่ละประเทศที่ ผปก. ต้องการส่งออก มีข้อกำหนดที่ต่างกันต้องเขียนมาตรฐานเทียบเท่ากับมาตรฐานของแต่ละประเทศนั้นๆ
ผปก. ต้องทราบหรือศึกษากระบวนการขอขึ้นทะเบียนมาบ้างไม่ควรส่งผู้ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเลย เช่น ให้ messenger มาติดต่อขอขึ้นทะเบียน, อาจมีฝ่าย (regulatory science) จัดเตรียมข้อมูลของสินค้าตน ที่มา การผลิต ข้อมูลคุณสมบัติที่มีการศึกษารองรับให้ถูกต้องตามที่มาตรฐานผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดกำหนด…
จากความคิดเห็นของผู้รับฟัง ทาง อย. ต้องเป็นทั้ง regulator และ facilitator ที่จัดให้มีแผนกช่วยเหลือเฉพาะ (utility) หรือมีเอกสาร แนะนำขั้นตอนการเตรียมเอกสาร หรือข้อมูลการยื่นแบบขอมาตรฐานใหม่ๆ ด้วย เพื่อช่วยเหลืออำนวยความสะดวก ผปก.ให้ได้รับมาตรฐานที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน, ในปัจจุบัน ภาครัฐมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเร่งรัดการทำงาน (เช่น พรบ. อำนวยความสะดวก)ให้ทางราชการออกมาตรฐานได้รวดเร็วขึ้นด้วย
จากนั้นได้เข้าชมบูธของหน่วยงานให้ทุน, หน่วยงาน facility ของภาครัฐ, มหาวิทยาลัย และผู้ประกอบการ ทั้งนี้ได้เก็บเอกสารแนะนำการเข้าร่วมโครงการและข้อมูลติดต่อหน่วยงานต่างๆ มาพอสมควร