สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย (ThaiBIO) จัดเสวนาเรื่อง ถอดรหัสการเข้าตลาดภาครัฐด้วยโครงการบัญชีนวัตกรรมไทย ในงาน Thailand Lab International 2019

วันที่ 27 กันยายน 2562 สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย (ThaiBIO) จัดเสวนาเรื่อง ถอดรหัสการเข้าตลาดภาครัฐด้วยโครงการบัญชีนวัตกรรมไทย ในงาน Thailand Lab International 2019 ณ MR 216 ไบเทค บางนา สมาคมฯ นำสรุปเนื้อหาและภาพบรรยากาศมาแบ่งปัน…

วันที่ 27 กันยายน 2562 ผู้สนใจที่มาร่วมงาน Thailand Lab มาร่วมลงทะเบียนเข้าฟังกันตั้งแต่เช้า เมื่อได้เวลา ดร.พิมพ์นภา ณีศะนันท์ ผู้จัดการสมาคมฯ ได้เรียนเชิญ ดร.วสันต์ อริยะพุทธรัตน์ นายกสมาคมฯ กล่าวเปิดงาน โดยนายกสมาคมฯ กล่าวว่าการเสวนาครั้งนี้เป็นกิจกรรม ThaiBIO Knowledge Sharing หนึ่งในกิจกรรมหลักของสมาคมฯ ซึ่งครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ของปี 2562 หลังจากนั้นผู้จัดการสมาคมฯ เรียนเชิญ ดร.วสันต์ ขึ้นเป็นวิทยากรร่วมแชร์ประสบการณ์ในฐานะผู้ก่อตั้ง และ ซีอีโอ บริษัท คีนน์ จำกัด นอกจากนี้ยังมีวิทยากรจากฝากฝั่งผู้ประกอบการอีก 2 ท่าน คือ ดร.นพดล โปธิตา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชียงใหม่ เอ็นไวรอนเม้นท์ โปรเทค จำกัด และคุณ ประพันธ์ วิไลเลิศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย เด็นทอล จำกัด และ …ผู้แทนจากฝากฝั่งรัฐ คุณอภิรักษ์ วิเศษศรีพงศ์ รก. ผู้จัดการ งานส่งเสริมนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) “หนึ่งในหน่วยงานรับการขึ้นบัญชีวัตกรรมไทย”โดยตรงมาร่วมแชร์ประสบการณ์

ดร.พิมพ์นภา ในฐานะผู้ดำเนินรายการถามคำถามต่อคุณอภิรักษ์ วิเศษศรีพงศ์ ผู้แทนทางภาครัฐถึง วัตถุประสงค์ เป้าหมาย และการดำเนินการของโครงการบัญชีนวัตกรรม ซึ่งทำให้ทราบที่มาว่า..จากปัญหาที่พบว่า (pain point) การขาดความเชื่อถือของผู้บริโภคคนไทยต่อสินค้าไทยทำให้การจำหน่ายสินค้าของผู้ผลิตคนไทยภายในประเทศของเราเองเป็นไปอย่างยากลำบาก ซึ่งทางภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงให้มีการศึกษาอย่างเป็นระบบเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ทำให้เกิดโครงการบัญชีนวัตกรรมไทยขึ้นมาเพื่อให้เป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการได้ขายสินค้ากับภาครัฐทำได้ง่ายขึ้นโดยผ่าน #วิธีเฉพาะเจาะจง ที่ได้ระบุไว้ในระเบียบพัสดุ ปี 2560 แล้ว

(เพิ่มเติม http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/024/13.PDF ) และเป็นการสร้างโอกาสให้สินค้าสัญชาติไทยได้พิสูจน์คุณค่า ถูกใช้ในหน่วยงานภาครัฐได้สูงขึ้น และบอกต่อๆ ได้

 

โดยการขึ้นบัญชีมีหลักการสำคัญกำหนดไว้เบื้องต้นว่า สินค้าที่จะนำมาขึ้นทะเบียนจะต้องเป็นสินค้าทีได้รับการพัฒนาหรือทำการวิจัยโดยคนไทย ซึ่งผู้ผลิตอาจจะอยู่ในทีมวิจัย หรือรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากนักวิจัยคนไทยก็ได้ และถ้าสินค้านั้นๆ มีขายในตลาดต่างๆ รวมถึงตลาดภาครัฐอยู่เดิมแต่ไม่เกิน 5 ปี ก็ยังสามารถนำมาขึ้นทะเบียนได้ แต่จะได้อยู่ในบัญชีสินค้านวัตกรรมต่ออีก 3 ปี แต่ถ้าเป็นสินค้าใหม่ที่ยังไม่เคยมีขายในตลาดมาก่อนจะได้ขึ้นบัญชีสูงสุดถึง 8 ปี

สินค้าที่นำมาขึ้นบัญชีฯ นี้จะต้องผ่านการพิจารณาจาก 2 หน่วยงาน 1. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 2. สำนักงบประมาณ โดยถ้าเอกสารครบสมบูรณ์จะผ่านการพิจารณาภายใน 45 วันในแต่ละที่ รวมวันทำการสั้นสุด 90 วัน สินค้าที่ผ่านการรับขึ้นทะเบียนจะอยู่ในรายการสินค้าบัญชีนวัตกรรม หรือ ที่หลายคนเรียกว่า catalog สินค้านวัตกรรม ที่สำนักงบประมาณจะจัดทำรายการส่งให้กับหน่วยงานภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ และจะส่งข้อมูลสินค้าที่ขึ้นทะเบียนใหม่ทุกเดือน เพื่อให้หน่วยงานรัฐเลือกจัดซื้อ ซึ่งกำหนดไว้อย่างน้อย 30% จากสินค้าประเภทเดียวกัน ผ่านวิธีเฉพาะเจาะจงดังกล่าวได้ นอกจากนี้สำนักงบฯ ยังมีการติดตาม รายการสินค้าที่จัดซื้อจากบัญชีนวัตกรรมจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้โครงการดำเนินได้อย่างมีประสิทธิผล ดังที่ตั้งวัตถุประสงค์ไว้อีกด้วย

ส่วนทางฝั่งผู้ประกอบการ ดร. วสันต์ อริยพุทธรัตน์, ดร.นพดล โปธิตา และคุณ ประพันธ์ วิไลเลิศ เจ้าของผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรม น้ำยาชีวบำบัดภัณฑ์ กลุ่มจุลินทรีย์ที่สามารถย่อยน้ำมันปิโตรเลียม, เตากำจัดขยะ ประหยัดพลังงานไร้มลพิษ และเก้าอี้ทำฟันพลังงานลม ตัวเดียวที่ไฟฟ้าดับแต่ยังทำงานได้ ซีอีโอทั้ง 3 ท่าน นับเป็นผู้ประกอบการรุ่นแรกๆ ที่นำสินค้าเข้าโครงการบัญชีนวัตกรรม และเป็นเพียง 10% ของสินค้าที่ขึ้นทะเบียนนวัตกรรมทั้งหมดที่เข้าสู่ตลาดภาครัฐสำเร็จได้อย่างงดงาม ได้แชร์ประสบการณ์ว่า ทีสนใจนำสินค้ามาขึ้นบัญชีฯ เนื่องจากพบว่า สินค้าในหมวดของท่านนั้นมีภาครัฐเป็นลูกค้า บางท่านสูงถึง 90% โดยทุกท่านมีความประทับใจกับหน่วยงานส่งเสริมนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ สวทข. อย่างมาก เพราะแม้ว่าจะมีปัญหาและอุปสรรคนานาประการในการนำสินค้าขึ้นบัญชีฯ เนื่องจากเป็นรุ่นบุกเบิกที่อะไรหลายอย่างยังไม่พร้อม แต่ได้รับการช่วยเหลือ แนะนำ สนับสนุน จนสามารถขึ้นทะเบียนได้ งานยากกว่าคือหลังจากการได้รับการขึ้นบัญชีฯ แล้วการเสนอขายสินค้ากับหน่วยงานรัฐด้วยโครงการบัญชีนวัตกรรมก็ไม่ใช่ทำได้ง่ายเนื่องจากเป็นโครงการใหม่หลายหน่วยงานไม่เข้าใจ และเคยชินกับการจัดซื้อในระบบเก่าที่เป็นการเทียบราคา จึงต้องอาศัย ความมุ่งมั่นที่จะเสนอสินค้าดี มีคุณภาพ และการให้ข้อมูลที่ถูกต้องอธิบายกันอยู่นานกว่าจะทำการตลาดได้สำเร็จ ซึ่งการมีสินค้าดี มีคุณภาพ ราคา และการบริการหลังการขายที่ว่องไวกว่า เข้าถึงง่ายกว่าสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งซ่อมบำรุงก็เร็วและถูกกว่าไม่ต้องเสียค่าโลจิสติกส์ไกล หรือส่งของข้ามประเทศ เป็นต้น เหล่านี้จะเป็นข้อได้เปรียบของสินค้าสัญชาติไทย นอกจากนี้การมีพันธมิตรร่วมค้าเป็นอีกวิธีที่จะช่วยขยายตลาดที่ดี โดยเมื่อกล่าวถึงเรื่องคุณภาพ สินค้าที่จะขึ้นบัญชีนวัตกรรมได้ ทุกชนิดจะต้องผ่านการตรวจสอบตามมาตรฐานที่มีกำหนดไว้ ในกรณีที่สินค้ายังไม่มีมาตรฐานกำหนดไว้ สินค้าชนิดนั้นจะต้องผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจากห้องปฎิบัติการที่ได้มาตรฐาน

ก่อนปิดการเสวนาได้รับเกียรติจาก น.สพ.รุจเวทย์ ทหารแกล้ว กรรมการสมาคมไทยไบโอ เป็นตัวแทนมอบของที่ละลึกเพื่อขอบคุณวิทยากรทุกท่านที่มาร่วมแบ่งปันข้อมูลอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการสินค้าสายนวัตกรรม ร่วมกับสมาคมครั้งนี้

สำหรับท่านผู้ประกอบการที่มีสินค้าจากการพัฒนา วิจัยโดยคนไทย ผลิตแล้วและกำลังหาช่องทางเพิ่มโอกาสการจำหน่าย การเข้าโครงการบัญชีนวัตกรรมไทย นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เป็นโอกาสสำหรับ ผู้ประกอบการ SME คนตัวเล็กที่จะได้พิสูจน์คุณภาพสินค้าไทย และ สร้างโอกาสทางการตลาดในประเทศได้อย่างมีประสิทธิผล