สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพไทย (ThaiBIO) นำเสนอใจความสำคัญช่วงหนึ่งช่วง Free talk (ปล่อยของ)ในงาน ThaiBIO Executive Luncheon 2020 สุดยอดการรวมพลผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสายเทคโนโลยีชีวภาพในเมืองไทยบนเวที ThaiBIO Talks ซึ่งช่วงนี้ได้รับเกียรติจากผู้บริหารบริษัทสมาชิก และศาสตราจารย์นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยวิจัยแนวหน้าของไทยได้ให้เกียรติร่วมแชร์ประสบการณ์ รวม 5 ท่าน
โดย ท่านแรก คุณชาญณรงค์ แสงเดือน ผู้ก่อตั้ง และผู้บริหาร บริษัท ไบโอไดเวอร์ซิตี้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งท่านเป็นนักสื่อสารมวลชนที่หันมาสนใจธุรกิจไบโอเทคฯ ด้วยด้วยความเป็นนักหาข้อมูล วิเคราะห์เพื่อนำเสนอระดับมืออาชีพ ท่านทราบว่าเมืองไทยเป็นประเทศที่มีไบโอไดเวอร์ซิตี้สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในอันดับต้นๆ แต่เรายังไม่ค่อยสนใจจะเสาะหาคุณค่าที่สำคัญของทรัพยากรกลับขายเป็นวัตถุดิบทำให้ได้รายได้ต่ำ ท่านกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ ว่า…เมื่อ 6 ปีก่อนท่านเริ่มต้นธุรกิจไบโอเทคด้วยการเลี้ยงแมลงเพื่อผลิตโปรตีน แต่พอทำมาสักพักข้อมูลที่ท่านพบคือคู่แข่งผู้ผลิตโปรตีนแมลงต่างชาติที่ทุนหนามีมากมาย และพบว่านอกจากโปรตีนแล้วแมลงมีไขมันชนิดที่ละลายน้ำได้เป็นสารสำคัญที่ใช้ในวงการ อาหาร และเครื่องสำอาง ซึ่งเป็นผลผลิตที่มีมูลค่าสูงกว่าและยังไม่มีคู่แข่ง ท่านจึงทำการทดสอบและจดสิทธิบัตรเพื่อผลิตเป็น ingredients และผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ ปัจจุบัน phosphosect ของท่านมีบริษัทจากต่างชาติสนใจ เนื่องจากความเป็นเจ้าของผลงานที่แตกต่าง ตอบโจทย์ และเป็นที่ต้องการ มีความสามารถที่แข่งขันได้ จึงนับว่าท่านเป็นคนหนึ่งที่ประสบความสําเร็จได้อย่างรวดเร็วในธุรกิจสายไบโอเทคนี้ ท่านที่ 2. ศ.ดร. อลิสา วังใน คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ท่านเป็นศาสตราจารย์นักวิจัยที่มีความรู้ ความสามารถสูง รวมถึงมีความเป็นนักสู้ ท่านกรุณามาแชร์ประสบการณ์การทำงานรวมถึงการปรับตัวเรียนรู้เพื่อที่จะเป็นนักวิจัยยุคใหม่ของไทยที่สร้างผลงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ได้จริง และ ตั้งเป้าพัฒนาไปถึงการออกมาเป็น startup ได้ในอนาคต นอกจากนี้ท่านได้กรุณาเล่าให้ฟังถึง หน่วยงาน CU enterprise ว่ามีการพัฒนาระบบ เพื่อเป็นกลไกที่ช่วยสนับสนุนผลงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ได้โดยเร็ว โดยจัดให้มีการลงทุนของมหาวิทยาลัย:คณะและเจ้าของงานวิจัย ร่วมหุ้นกันส่วนที่เหลือให้เอกชนที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนโดยคิดค่า Upfront และ Royalty ที่เป็นมิตรทั้งสองฝ่าย ตอบโจทย์ที่นักวิจัยต้องการความคุ้มค่าของ IP สูงสุด ขณะที่เอกชนต้องการลดต้นทุนให้มากที่สุด ซึ่งวิธีนี้นักวิจัยก็จะได้กำไรปันผลจากการขายผลิตภัณฑ์ในตลาดโดยใช้ความพร้อมของนักธุรกิจเป็นผู้ผลิตและเชี่ยวชาญตลาดและสำหรับนักธุรกิจเป็นการการันตีว่าผู้เชี่ยวชาญเจ้าของผลงานจะร่วมอยู่พัฒนา สูตรผลิตภัณฑ์จนออกสู่ตลาดได้ และอาจมีผลงานใหม่ๆ ร่วมกันอีกได้ การทำงานร่วมกันแบบนี้จะได้ความสำเร็จที่รวดเร็วเพราะรวมเอาคนเก่ง ถนัดในด้านของตนมาทำงานด้วยกัน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศรวดเร็วขึ้นได้ ท่านที่ 3. คุณ มารุต บูรณะเศรษฐกุล ผู้ก่อตั้ง และผู้บริหาร บริษัท ไบโอ เจเนเทค อินเตอร์เนชั่นเนล (BGIC) สมาชิกน้องใหม่สุดในสมาคมฯ, ท่านเป็นนักการตลาดที่ประสบความสำเร็จในการบริหารบริษัทขนาดใหญ่ที่มีประสบการณ์การลงทุนระหว่างประเทศ ที่มาเริ่มธุรกิจอุตสาหกรรมไบโอเทคในสาย Biopharma การพัฒนางานวิจัยมาผลิตยา และเวชภัณฑ์ชีวภาพ ซึ่งเป็นธุรกิจสายหินที่สุดในบ้านเรา ด้วยความยากของเนื้องานเอง และยังเป็นธุรกิจใหม่สำหรับประเทศไทย ทำให้ขาดความพร้อมในเรื่องต่างๆ ของภาครัฐโดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานต่างๆ แต่ด้วยความเป็นผู้มีใจอันเป็นกุศล จึงเข้ามาในธุรกิจนี้ด้วยความหวังว่า ถ้าทำได้จะ สร้างงานในประเทศ สร้างมูลค่างานวิจัย ผลิตยาตัวใหม่ๆ มารักษาโรค, พัฒนาคุณภาพยา หรือแม้แต่มียาในราคาสมเหตุสมผล เข้าถึงได้ จึงออกจากงานเดิมมาตั้ง BGIC โดยท่านออกตัวด้วยสุภาษิตจีน คำว่าหมูไม่กลัวน้ำร้อน หรือลูกวัวไม่กลัวเสือ ท่านมาเพื่อใช้ประสบการณ์ทำหน้าที่เชื่อมโยงให้ทุกส่วนได้ทำงานตามความเชี่ยวชาญ และมีเพื่อน ดร. วสันต์ อริยพุทธรัตน์ นายกสมาคมฯ ที่แนะนำให้รู้จักกับธุรกิจนี้ และคุณวิทูรย์ วงศ์หาญกุล กรรมการสมาคมฯ รุ่นพี่ที่มีความอาวุโสในธุรกิจไบโอเทคสายการผลิตและตลาดยา คอยให้คำแนะนำ รวมถึงอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญอีกมากมาย คุณมารุตกล่าวว่า จะสร้าง BGIC เป็น platform ในการสร้างคุณค่าให้เศรษฐกิจไทยและ สร้างประโยชน์ให้ทุกชีวิตบนโลกได้
ท่านที่ 4. คุณ วิฑูรย์ วงศ์หาญกุล ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ท่านเป็นผู้มีประสบการณ์ในธุรกิจผลิต จำหน่ายยามา 49 ปี กรุณาให้เกียรติ มาแชร์ประสบการณ์การก่อตั้งบริษัทโรงงานผลิตวัคซีน รายแรกในประเทศไทยที่ต้องพบกับอุปสรรคนานาประการ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างศักยภาพของประเทศให้เป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกวัคซีน สามารถสำรองวัคซีนได้ในยามวิกฤติ (รายละเอียดข่าวสัมภาษณ์คุณวิทูรย์ ของสมาคมเมื่อปี2559) เริ่มต้นท่านใช้รายได้จากการค้าขายมาเป็นทุนในการพัฒนางานวิจัย ผลิตวัคซีนซึ่งปัจจุบันภาครัฐให้ความสำคัญเรื่องทุนพัฒนางานวิจัยมากขึ้น ถ้าทำเป็น block fund จะทำให้นักวิจัยจะไม่ต้องเหนื่อยมาก และ ชี้ให้เห็นว่า technology ที่ได้นี้จะ transferไปต่างประเทศได้ด้วยเช่นกัน ไม่จำเป็นที่จะต้องมองแค่มุมการรับ technology จากต่างประเทศเข้ามา และท่านกรุณาแนะนำว่า อุตสาหกรรมยาต้องมองตลาดใหญ่เป็นตลาดระดับโลก ผลิตเพื่อขายไปครึ่ง-ค่อนโลก เพราะถ้าผลิตเพียงแค่ค้าขายภายในประเทศต้นทุนจะสูงและแข่งขันไม่ได้ นอกจากนี้ท่านยังโยนโจทย์สำหรับภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศไว้ในการรวตัวกันวันนั้นว่า “วัคซีนที่ผลิตในไทยจะมุ่งไปที่บริษัทดิสทริบิวเตอร์ขนาดยักษ์ของอเมริกาได้อย่างไร” ก่อนจะจบการแชร์ ประสบการณ์ของท่าน ท่านพูดหยอกล้ออารมณ์ดีว่า ..ที่ท่านตั้งโรงงานก็เพราะความไม่รู้นี่แหละโชคดีที่ท่านมีเพื่อน มีทีมที่ดีคอยช่วยสนับสนุน และมีทุนให้เบิร์น ถ้าทุนหมดคงต้องเอาตัวเองไปแทนเรียกเสียงหัวเราะ และบรรยากาศเป็นกันเอง ท่านสุดท้าย ศ. ดร. ศันสนีย์ ไชยโรจน์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ใหญ่ในวงการ การใช้ประโยชน์จากการวิจัยมาผลิตยา และเวชภัณฑ์ชีวภาพ ท่านเป็นผู้มีประสบการณ์ในขั้นตอนตั้งแต่ต้นน้ำมาถึงปลายน้ำ คือ ท่านเป็นอาจารย์นักวิจัย มีควาเชี่ยวชาญด้าน IP เป็นผู้บริหารในมหาวิทยาลัย ท่านอยู่ในคณะทำงานและ บริหารตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทผลิต biopharma หนึ่งในความภูมิใจของประเทศไทย (รายละเอียดเพิ่มเติมดูข่าวสมาคมฯ เข้าสัมภาษณ์ผู้บริหาร Siam Biosience ในข่าวสมาคมปี 2560) ซึ่งในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ออกมาแล้วหลายตัวและ มี EBIDAเป็นบวกแล้ว นับว่าประสบความสำเร็จได้รวดเร็วเมื่อเทียบกับบริษัทประเภทเดียวกัน ศ. ดร. ศันสนีย์ กรุณาแชร์ประเด็นต่างๆ ที่เป็นข้อควรระวังสำหรับการพัฒนางานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ตั้งแต่การวางแผนการวิจัย ไม่ใช่แค่ค้นพบสิ่งใหม่ และจด IP ได้ แต่จะต้องดู freedom to operate ด้วยว่าการพัฒนาสิ่งที่ค้นพบมาเป็นผลิตภัณฑ์จะต้องไปแตะ IP ใดบ้าง ควรทำ IP landscape ดูสิ่งที่เขา claim ไว้ก่อนด้วย นอกจากนี้ประเด็นต่างๆ ที่เป็นปัญหาในการตั้งโรงงานผลิตยา biopharma รวมถึงกฏระเบียบในการทำงานต่างๆ ที่ประเทศไทยยังไม่พร้อม อาทิเช่น พรบ. GMO ที่ยังไม่คลอด มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบางกลุ่มทำให้ไม่สามารถออกกฎหมายมาได้ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว งานนี้เป็นเพียงวิธีการ (methods)ที่ใช้สำหรับปรับปรุงสายพันธุ์ที่ใช้กันในหลายอุตสาหกรรมในต่างประเทศมานานแล้ว ซึ่งวิธีควบคุม ป้องกันเพื่อไม่ต้องการให้ผลผลิตจากการปรับปรุงสายพันธุ์ หรือ พันธุกรรมของตัวนำที่ใช้ในวิธีการสร้างสายพันธุ์ใหม่ (DNA Vector) ออกมาปะปนกับสายพันธุ์ธรรมชาติจนอาจทำให้เสียสมดุลย์นี่ต่างหากที่ควรสร้างกฎข้อบังคับไว้ ซึ่งก็มีวิธีที่ทำได้และเป็นมาตรฐานสากล (Cartagena Protocol )อยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอีกหลายตัว เช่น Bayh-Dole act (https://www.nxpo.or.th/th/bda/) ที่ต้องขับเคลื่อนให้ออกมาเพื่อปลดล็อก และสนับสนุนการใ้ช้งานวิจัยให้เกิดประโยชน์ และ บางกฎหมายต้องแก้ไขลดกำแพงลงเพื่อสนับสนุนการทำงานของภาคธุรกิจที่มารับถ่ายทอดผลงานไปจนถึงการผลิต และสนับสนุนการค้าขายของสินค้านวัตกรรมไทย บรรยากาศความเป็นกันเองของแต่ละท่าน และความสุขจากการได้เป็นผู้คิดที่จะให้ มุ่งดี มุ่งเจริญ ต่อกันสามารถติดตามได้จากวีดีโอ (https://www.facebook.com/1666001887053568/posts/2593933337593747/?vh=e&d=n) และรูปในข่าวต่างๆ ที่ได้นำเสนอไป