สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย (ThaiBIO) นำ กิจกรรมรูปแบบใหม่ ThaiBIO Knowledge Sharing Online 1/2020….ในหัวข้อ “ผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID19 ต่อธุรกิจอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ”
จากบทสัมภาษณ์ ดร.วสันต์ อริยพุทธรัตน์ นายกสมาคมฯ ในฐานะผู้บริหารบริษัทเอกชนที่ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ, ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมบนพื้นฐานความรู้เทคโนโลยีชีวภาพทั้งในองค์กรภาคเอกชนและภาครัฐ….และนำเสนอเพื่อแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์ ในการปรับตัวของธุรกิจอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพช่วงวิกฤตการณ์ ….
เหตุการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัส COVID19 ที่ระบาดเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นวิกฤตร่วมกันไปทั่วโลก และส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของทุกคนบนโลกไปจนถึงระดับมหภาคอย่างเศรษฐกิจ โครงสร้างสังคม และการเมืองระหว่างประเทศ สำหรับผลกระทบต่อธุรกิจอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ดร.วสันต์ มีความเห็นและปรับตัว อย่างไร สมาคมฯ นำสรุปประเด็นจากบทความในบทสัมภาษณ์ (ติดตาม รายละเอียด เพิ่มเติม http://www.thaibio.or.th/wp-content/uploads/2020/04/บทความ-ThaiBIOKS1-2020_VA.pdf) มานำเสนอ
“เหตุการณ์ ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID19 ซึ่งมีอันตรายต่อสุขภาพจนถึงขั้นเป็นอันตรายแก่ชีวิตแพร่ระบาดทางอากาศได้ในบางสภาวะ ทำให้เกิดความตื่นตระหนกของคนในปัจจุบัน และด้วยการแพร่ระบาดที่ติดต่อกันได้ง่ายนี้จึงต้องมีการประกาศ พรบ. ฉุกเฉิน จากรัฐบาลไทย และให้หยุดกิจกรรมที่มีการติดต่อกันของผู้คนให้มากที่สุดส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้นผู้ประกอบการอย่าตระหนกตามไปด้วยแต่ให้ตระหนัก…..หลายธุรกิจในประเทศได้รับผลกระทบโดยตรงทำให้ต้องปิดตัวลง โดยเฉพาะการบริการที่ต้องพบเจอกัน เช่น การท่องเที่ยว ร้านตัดผม ร้านนวดแผนไทย ซึ่งบางธุรกิจได้รับผลกระทบทางอ้อมและบางครั้งอาจต้องปิดไปด้วย เช่น ร้านค้าปลีก สายการบิน โรงแรม การขนส่ง ธุรกิจห้างร้านใหญ่ๆ สำหรับธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพในปัจจุบันไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงเช่นกัน แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนการทำงาน ส่วนตัวเองได้แยกการทำงานออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 ภายในบริษัทหรือปฏิบัติการเชิงรับ และส่วนที่ 2 ภายนอกบริษัทหรือปฏิบัติการเชิงรุก
ในส่วนที่ 1 การปรับการทำงานภายในบริษัท โดยปรับการทำงานขององค์กรให้รองรับนโยบาย Social distancing ระยะเร่งด่วนคือ 1.1 ตัวพนักงานหรือบุคคลากร เช่น ฝ่ายขายให้งด/ลดการเข้าไปพบลูกค้าโดยตรงแต่ให้ใช้ระบบ Tele-communication 1.2 ฝ่ายบุคคลให้จัดตารางเวลาสลับกันเข้าที่ทำงาน จัดการประชุมแบบ Tele-conference, รองรับการให้พนักงานทำงานทางไกลอย่างเต็มรูปแบบได้ (Visual Digitalization) 1.3 สินค้าและบริการ เพิ่มชนิดสินค้าและบริการ ต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของผู้บริโภค เช่น เน้นขายสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิต หรือเป็นที่ต้องการในช่วงวิกฤตการระบาด1.4 วางแผนธุรกิจให้รอบครอบขึ้น ครอบคลุมความไม่แน่นอน (Uncertainty) ที่มีผลต่อธุรกิจสูงซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การเกิดโรคระบาด COVID19 นี้เท่านั้น ยังรวมถึงมิติอื่น เช่น ความแห้งแล้ง ภัยธรรมชาติ อุบัติภัยจากฝีมือมนุษย์ ซึ่งการวางแผนการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) ของธุรกิจในระดับที่รองรับพฤติกรรมของประชากรผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันและอาจส่งผลในอนาคต……”
ส่วนที่ 2 การทำงานภายนอกบริษัทหรือปฏิบัติการเชิงรุก…มาตรการดูแลสุขอนามัยที่รัฐกำหนด และมาตรการความปลอดภัยในสถานบริการต้องคำนึงถึง Social Distancing นี้จะมีไปจนกว่าโลกจะหาวัคซีนป้องกันโรคนี้ได้ และดำเนินไปอีกระยะหนึ่งหลังวิกฤตคลี่คลาย พฤติกรรมของประชากรผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันอาจจะส่งผลถึงอนาคต และเกิดเป็นแรงเคลื่อนต่อเนื่อง (Dynamic) ของการเปลี่ยนแปลงและสามารถสร้างปรากฎการณ์ใหม่ (New normal) ในการดำรงชีวิตในสังคมได้ ผู้ประกอบการหลังการเกิดวิกฤตจึงจำเป็นที่เตรียมการรับมือการทำการตลาด online ที่มีผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในตลาด online เพิ่มมากขึ้นหลังถูกเหตุการณ์บังคับให้ใช้งานกันอย่างถ้วนทั่วหน้าในครั้งนี้
ยุคต่อไปจากนี้อาจจะไม่ใช่การขายสินค้าหรือการบริการแบบการสร้างความมีตัวตน ความเป็นปัจเจคโดยไม่มีส่วนร่วมในสังคม และให้บริการแบบ offline ….แต่จะเข้าสู่การทำธุรกิจ online, ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพมาตรฐาน คำนึงเรื่องความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของผู้บริโภค ฟื้นฟูสังคม และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งการบริการ การขนส่งจะต้องมีการรับประกันมาตรฐานการบริการ ความปลอดภัยด้านสุขอนามัยควบคู่ด้วย วิถีชีวิตของผู้คนกำลังถูกปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่รวมทั้งสิ่งที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การสะสมเสบียง หรือภูมิคุ้มกันทางธุรกิจ และเพื่อจะรักษาโลกใบนี้ จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึง ซึ่งนอกจากเรื่องทุนรอนแล้ว การสะสมเทคโนโลยี ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม สินค้าและบริการในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสนับสนุนต่อยอดธุรกิจของตนไว้ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการประกอบธุรกิจในอนาคต
สุดท้ายนายกสมาคมฯ ขอส่งกำลังใจให้กับผู้ประกอบการทุกท่าน นำพาองค์กรรวมถึงบุคคลากรให้ปลอดภัยและผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน และเน้นย้ำว่าการมีเทคโนโลยี ข้อมูล ความรู้ วิทยาศาสตร์ และโดยเฉพาะเทคโนโลชีวภาพซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญต่อผู้ประกอบการไทยเพราะประเทศไทยเรามีวัตถุดิบ และผู้ประกอบการบนฐานชีวภาพอยู่มากมาย แต่ยังไม่ให้ความสำคัญของข้อมูล ความรู้ ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มความพร้อมในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสมกับผู้บริโภค การนำเสนอสินค้า และบริการที่เป็นที่ต้องการ ในยุคนี้และอนาคต วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทางชีวภาพจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจของเราโดดเด่นกว่าคู่แข่งในธุรกิจประเภทเดียวกัน
ขอขอบคุณ ดร.วสันต์ อริยะพุทธรัตน์ นายกสมาคมฯ วิทยากรผู้แบ่งปัน
ดร.พิมพ์นภา ณีศะนันท์ ผู้จัดการสมาคมฯ ผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียง