วันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 ดร.วสันต์ อริยพุทธรัตน์ นายกสมาคมฯ พร้อมด้วย ดร.พิมพ์นภา ณีศะนันท์ ผู้จัดกรสมาคมฯ เข้าร่วมแสดงความยินดีกับ “ศาสตราจารย์ เกียตรติคุณ ดร.นพ. พรชัย มาตังคสมบัติ ประธานที่ปรึกษาสมาคม, คณาจารย์ และบุคคลากรคนสำคัญของศูนย์ CENMIG ที่มุ่งศึกษาจีโนมเพื่อการพัฒนาที่ดีขึ้นของมนุษยชาติ อาทิ ศาสตราจารย์ นพ.ดร.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ และ ดร.ภากร เอี้ยวสกุล ในโอกาสการเปิดศูนย์วิจัยฯ
โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของการก่อตั้งศูนย์ CENMIG ว่าเกิดมาจากการสั่งสมองค์ความรู้ในการทำงานด้านการวิจัย genome ของคณาจารย์ในภาควิชาจุลชีววิทยา และท่านยกตัวอย่างผลจากความเชี่ยวชาญของการทำวิจัย genome ของเชื้อวัณโรคในไทยที่ทำให้พบความแตกต่างของ DNA sequence ของเชื้อในแต่ละภูมิภาคที่มีการวิวัฒนาการร่วมกับมนุษย์ที่เป็น host ในแต่ละภูมิภาคนั้นๆ เชื้อที่พบในไทยหลายตัวไม่สามารถจัดกลุ่มเข้ากับเชื้อที่รายงานพบจากภูมิภาคอื่นได้ ข้อพิสูจน์ในเชิงการใช้ประโยชน์ข้อหนึ่ง คือ วัคซีนป้องกันเชื้อวัณโรคที่ต่างประเทศผลิตมามีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดโรคในคนไทย….น้อยกว่าที่ควร ส่งผลให้ยังคงมีปัญหาการพบผู้ป่วยวัณโรคในไทยมาก นอกจากนี้เกิดจากการจัดโครงการจัดเทรนนิ่งจากคณาจารย์ในภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลหลายท่าน นำโดย ดร.ภากร เอี้ยวสกุลทำให้เกิดเป็นกลุ่มชุมชนของนักวิจัยอนูพันธศาสตร์, genome sequencing และ Bioinformatics มากมาย ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยมหิดล และเกิด network ทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงทางศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ได้ช่วยนำข้อมูลผลงานต่างๆ ลงตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือวารสารวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ และผู้ใหญ่ในมหาวิทยาลัยมหิดลมองการณ์ไกลและร่วมสนับสนุนให้เกิดศุนย์ฯ นี้ขึ้น ซึ่ง ศ. เกียตรติคุณ ดร.นพ. พรชัย มาตังคสมบัติ เป็นผู้ผลักดัสนับสนุนการทำงานนี้มาตลอด
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการนำชื่อ ศ. นพ. พรชัย มาตังคสมบัติมาตั้งเป็นศูนย์วิจัยแห่งนี้ว่าเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความมีมุทิตาต่อครูอาจารย์ที่ควรส่งเสริมให้เป็นค่านิยมของสังคมไทยและชื่อของอาจารย์ท่านมีคุณานุปการ นอกจากท่านเป็นผู้วางรากฐานอันแข็งแกร่งให้แก่การเรียน การสอน ระดับบัณฑิตศึกษา และการวิจัยด้านจุลชีววิทยาของประเทศ เป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลจากคณะวิทยาศาสตร์ที่ดำรงตำแหน่งอธิการฯ ถึง 2 สมัย ที่เป็นเครื่องยืนยันแล้ว…ความเป็นนักสู้ของตัวท่านที่ทำการ ก่อการ ก่อตั้ง และดำรงค์ตำแหน่งในองค์กรต่างๆ ที่ล้วนแต่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยมาตั้งแต่เริ่มแรกที่ประเทศยังไม่มีกระทรวงวิทย์ฯ ที่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกระทรวงอุดมฯ มาดูแลรับผิดชอบด้านการพัฒนาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งต้องผ่านความยากลำบากต่างๆ มากมายในการทำงาน ทั้งในด้านเครื่องไม้เครื่องมือ ตัวเทคโนโลยีเองที่ยังไม่เจริญก้าวหน้า ไม่มีผู้ใหญ่ที่เข้าใจ ไม่มีนโยบายสนับสนุน แต่ท่านสู้และผ่านมาได้จนเกิดหน่วยงานสนับสนุนวิทยศาสตร์มากมายในปัจจุบัน ชื่อของท่านจึงสื่อให้นักวิจัย และคณาจารย์รุ่นใหม่ ละลึกนึกถึงและจะเป็นกำลังใจได้เมื่อเจออุปสรรคในการทำงานต่อนับจากนี้
ต่อจากนั้นศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พรชัย มาตังคสมบัติ ได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และการพัฒนาวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย” โดยตัวท่านเองเน้นว่าการวิจัยให้ได้ข้อมูลพื้นฐานเป็นรากฐานของการพัฒนา ตัวเทคโนโลยีและวิทยาการที่ทันสมัยเป็นเครื่องมือที่จะช่วยการวิจัยประสบผลสำเร็จ ช่วยให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันและเป็นผู้นำในด้านต่างๆ ได้ คณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (อาจรวมถึงคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ทุกท่านด้วยก็ได้) จะต้องสั่งสอนลูกศิตย์ให้เข้าใจลึกซึ้งถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ การศึกษา ทดลอง วิจัย ให้ได้ข้อมูลเหล่านั้นออกมาด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถทิ้งไปได้ หรือไปโฟกัสที่การนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพานิชย์เพียงอย่างเดียว
ศูนย์วิจัยจีโนมจุลินทรีย์ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พรชัย มาตังคสมบัติ CENMIG ตั้งอยู่ที่ห้อง B600A ชั้น 6 ภาควิชาจุลชีววิทยา ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ทำงานภายใต้วิสัยทัศน์ “Genomics for the betterment of mankind” ปัจจุบันดูแลโดยภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาชิกเครือข่ายของศูนย์ฯ มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาวิชา ตั้งแต่ ด้าน คอมพิวเตอร์ จุลชีววิทยา การแพทย์และสาธารณสุข ระบาดวิทยา ทฤษฎีวิวัฒนาการ รวมไปถึง คณิตศาสตร์และสถิติ เน้นการควบคุมรักษาโรคติดเชื้อสําคัญ โดยการศึกษาวิจัยข้อมูลจีโนม ของเชื้อโรคสําคัญต่าง ๆ เพื่อยกระดับการสาธารณสุข และพัฒนาขีดความสามารถด้านชีวสารสนเทศของประเทศไทยและประเทศในแถบภูมิภาคอาเซียน