วันพุธที่ 8 มีนาคม 2566 ดร.พิมพ์นภา ณีศะนันท์ ผู้จัดการสมาคมฯ เข้าร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวโรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค (BIOTEC Bioprocessing Facility) หรือ BBF ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถนนพระราม 6 ราชเทวี กรุงเทพฯ
โรงงาน BBF นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในระดับกึ่งอุตสาหกรรม (Pilot scale) ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนัวตรกรรม (อว.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีเป้าหมายเพื่อใช้เร่งผลักดันการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ซึ่งตัวโรงงานได้รับมาตรฐาน Codex GHPs และ HACCP ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ โดยให้บริการการทำวิจัยร่วมกับภาคเอกชน และให้บริการต่อยอดการนำจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมกับภาคเอกชน หรือ นักวิจัยที่ต้องการต่อยอด
เป็นที่ทราบกันดีในนักธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพเป็นเครื่องมือในอุตสาหกรรมชีวภาพว่า สวทช.เป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศที่รวบรวมคนเก่งระดับหัวกะทิและงานวิจัยที่ทรงคุณค่าอยู่มากมาย หลายบริษัทประสบความสำเร็จได้เพราะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและร่วมวิจัยกับทีมนักวิทยาศาสตร์จาก สวทช. และในงานเปิดตัวโรงงานในครั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. ยังได้ประกาศนโยบาย “NSTDA Core Business” มุ่งเป้าเพื่อแก้ปัญหาของภาคอุตสาหกรรม และการให้ประชาชนเข้าถึงงานวิจัยที่ใช้ได้จริง โดยโรงงานต้นแบบนี้อยู่ใน FoodSERP แพลตฟอร์ม 1ใน 4 เป้าหมายซึ่งเน้นบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน และด้วยประเทศไทยตั้งอยู่บนพื้นที่เขตร้อนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ร้อยละ 8-10 ของจุลินทรีย์ที่คาดว่ามีอยู่ในโลกจึงพบในประเทศไทย ซึ่งจุลินทรีย์เหล่านี้พบกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ ความได้เปรียบนี้ประจวบกับโครงสร้างพื้นฐาน ความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมและกำลังคนที่เชี่ยวชาญในการขยายผลการใช้ประโยชน์จุลินทรีย์เหล่านี้ในระดับอุตสาหกรรม จะช่วยส่งผลให้จุลินทรีย์ที่ค้นพบและผ่านการทดลองและวิจัยจนทราบคุณสมบัติแล้วเหล่านี้ถูกส่งต่อไปสู่การใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมได้เร็วยิ่งขึ้น
สมาคมขอแสดงความชื่นชมยินดีกับความสำเร็จในการเปิดโรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค BBF ที่ได้ตีตราขึ้นทะเบียนมาตรฐานสากลเป็นที่เรียบร้อย และบุคคลสำคัญที่ผลักดันและร่วมลงมือลงแรง อีก 2 ท่าน ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค และ ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยส่วนผสมฟังก์ชั่นและนวัตกรรมอาหาร ไบโอเทค และ ผู้บริหารจัดการโรงงาน ที่มีความมุ่งมั่นทำให้ BBF เป็นโรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค (Pilot plant) ที่รองรับการผลิตผลิตภัณฑ์จากจุลินทรีย์ทั่วไปและจุลินทรีย์ดัดแปลงพันธุกรรม ภายใต้สถานที่ผลิตอาหาร (food-grade manufacturer) ตามมาตรฐานสากล Codex GHPs และ HACCP
BBF ตั้งอยู่ที่อาคาร BIOTEC pilot plant อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยมี bioreactor ที่สามารถรองรับการผลิตในรูปแบบ submerged fermentation
ขนาด 300 ลิตร และ solid-state fermentation ขนาด 500 กิโลกรัม รวมทั้งเครื่องมือในกระบวนการปลายน้ำและวิเคราะห์ทดสอบที่รองรับการผลิตสำหรับขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ โดยนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เชิงบูรณาการผนวกองค์ความรู้พื้นฐานด้านจุลินทรีย์เข้ากับเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมชีวกระบวนการ และเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ ในการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมกระบวนการผลิตเซลล์จุลินทรีย์ สารชีวภัณฑ์จากจุลินทรีย์ และส่วนผสมฟังก์ชั่น หรือ functional ingredients ในระดับขยายขนาดในราคาที่เป็นมิตร