วันที่ 22 มีนาคม 2566 ดร.ขวัญชนิตร ตันติเวชกุล กรรมการสมาคม พร้อมด้วย ดร.พิมพ์นภา ณีศะนันท์ ผู้จัดการสมาคม นำบริษัทสมาชิกผู้ประกอบการกลุ่มผู้ผลิตและใช้จุลินทรีย์ในอุตสาหกรรมเข้าเยี่ยมชมโดยศูนย์แรกคือ…ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (Innovative Center for Production of Industrially used microorganisms หรือ ICPIM) ซึ่งเป็นศูนย์เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนา ด้านจุลินทรีย์โพรไบโอติกแบบครบวงจร การผลิตในระดับอุตสาหกรรมที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GHPs & HACCP ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ อาหาร ยาและเวชสำอางสำหรับมนุษย์ (ICPIM1) และ สารชีวภัณฑ์ด้านการเกษตร (ICPIM2) โดยให้บริการสายพันธุ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกชนิดต่างๆ, พัฒนากระบวนการผลิต (Upstream & Downstream process)ในระดับอุตสาหกรรม สร้างต้นแบบการผลิตในเชิงพาณิชย์, บริการวิเคราะห์ทดสอบจุลินทรีย์และผลิตภัณฑ์ที่มีจุลินทรีย์เป็นส่วนประกอบ บริการทดสอบคุณสมบัติเชิงหน้าที่ของจุลินทรีย์โพรไบโอติก รวมทั้งงานบริการทดสอบพิษวิทยาต่อหน่วยพันธุกรรม ศูนย์ต่อมาเป็นศูนย์บริการนวัตกรรมเครื่องสำอางแบบครบวงจร (Innovative Cosmetic Services Center หรือ ICOS) ที่ผ่านการประเมินสถานที่ผลิตเครื่องสำอางจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เปิดให้บริการด้านการพัฒนาสายการผลิตเครื่องสำอางให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในระดับอุตสาหกรรมเพื่อทดสอบตลาด หน่วยงานนี้อยู่ภายใต้สังกัดศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ศนส.)จึงเป็นอีกสิทธิประโยชน์หนึ่งสำหรับผู้ประกอบการความงามที่ต้องการองค์ความรู้ในด้านสมุนไพรมาเสริมในผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้มีบริการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ให้บริการที่ปรึกษาและฝึกอบรมด้านเครื่องสำอาง และสุดท้ายเข้าเยี่ยมชมศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย (Algal Excellent Center หรือ ALEC) เป็นหน่วยงานที่มีการดำเนินงานด้านสาหร่ายอย่างครบวงจร ตั้งแต่รวบรวมและเก็บรักษาสายพันธุ์สาหร่ายน้ำจืดและน้ำเค็มจากแหล่งต่างๆ ทั่วประเทศไทย มีคลังเก็บรักษาสายพันธุ์สาหร่าย กว่า 1,000 สายพันธุ์เพื่อจัดทำฐานข้อมูล มีระบบการเพาะเลี้ยงสาหร่ายกลางแจ้งระดับการเพาะเลี้ยงต่อเนื่องปริมาตรรวม 400,000 ลิตร มีห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยง วิเคราะห์ และทดสอบด้านสาหร่ายแบบครบวงจร
ศูนย์เหล่านี้มีโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือ เทคโนโลยี และนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในระดับสูงสามารถตอบประเด็นปัญหาด้านการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดีทำให้การเยี่ยมชมงานครั้งนี้คณะผู้เยี่ยมชมซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีเทคโนโลยีการผลิตในระดับอุตสาหกรรมอยู่เป็นทุนเดิมได้รับความรู้เพิ่มเติมตอบโจทย์เทคโนโลยีชีวภาพสำหรับการดำเนินงานในอุตสาหกรรมต่อไป
สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทยและคณะผู้เยี่ยมชม ขอขอบคุณ ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว., ดร.โศรดา วัลภา รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ และ ดร.พงศธร ประพัทธรางกูล ผู้อํานวยการศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ (ICPIM) และทีมนักวิจัยที่ร่วมต้อนรับและให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการในครั้งนี้
วว.; Tel. 025779000
Icpim1&2 Alec Line id: @brc_tistr Email: BRC@tistr.or.th, alec@tistr.or.th
ICOS Email: nuttapan@tistr.or.th
ThaiBIO; Tel. 092-912-1000