สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย (ThaiBIO) จัดกิจกรรม ThaiBIO Knowledge Sharing ครั้งที่ 2/2562 ในช่วงบ่ายของวันที่ 25 มิถุนายน 2562 นำสมาชิกจากภาคส่วนเอกชน นักลงทุน ผู้ประกอบการสายไบโอเทคฯ เข้ารับฟังโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) สิทธิประโยชน์ และ ติดตามความคืบหน้า จาก ดร. รวิภัทร์ ผุดผ่อง ตัวแทนจากฝ่ายพัฒนาความร่วมมือ EECi สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ณ วังจันทร์วัลเลย์ (Wangchan Valley) ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง
ดร.รวิภัทร์ เล่าให้ฟังว่า (slide: http://www.thaibio.or.th/wp-content/uploads/2019/07/EECi-Overview-20190625-ThaiBIO-Association.pdf) โครงการพัฒนา EECi เกิดขึ้นจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในสมัยที่ยังเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เห็นว่าการส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกนั้นเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S Curve) ที่เป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 จึงเสนอแนวทางการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi) ขึ้น โดยมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานในระดับขยายขนาด (Scale up) โดยโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และสมบูรณ์เหล่านี้ต้องลงทุนสูงแต่มีความจำเป็นสำหรับการหาสภาวะที่เหมาะสมสำหรับใช้ผลิตจริงในการอุตสาหกรรมโดยผู้ประกอบการไม่ต้องลงทุนโครงสร้างเหล่านี้เองแต่มาขอเช่าใช้ และ จะมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำในการทดลองขยายขนาด รวมถึงเชื่อมโยงกับศูนย์วิทยาศาสตร์ตามภูมิภาค เพื่อการขยายผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพานิชย์
นอกจากนี้ใน EECi จะเป็นศูนย์กลางด้านการวิเคราะห์ทดสอบ และการมาตรฐานของประเทศ (National Quality Infrastructure) มีการทดสอบนวัตกรรมโดยผ่อนปรนกฎระเบียบ (Regulatory Sandboxes) และ มีการเชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้ใช้นวัตกรรมทั้งจากภายในและต่างประเทศ ด้วยกลไกต่างๆ อาทิ คอนซอร์เทียมอุตสาหกรรม (Industrial Consortium) เพื่อสร้างนวัตกรรมร่วมกัน นวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) เกิดระบบนิเวศนวัตกรรม (Comprehensive Innovation Ecosystem) มีการทำงานร่วมกัน (บูรณาการ) ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา/สถาบันวิจัย และหน่วยงานภาคธุรกิจ ตามแนวคิด Triple Helix Model โดยพื้นที่ในบริเวณ EECi จะมี โครงสร้างพื้นฐาน (EEC infrastruture : https://www.eeci.or.th/th/Infrastructure-Development-Project/) ที่ตอบโจทย์หน่วยงานที่อยู่ในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมได้เข้ามาตั้งอยู่ร่วมกันทั้งสถาบันวิจัยไทยและสถาบันวิจัยต่างชาติ (Research Center/Institute), หน่วยงานถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer/Licensing Office), หน่วยงานมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย, หน่วยบ่มเพาะธุรกิจ (Incubator), BOI, และมีพื้นที่ให้เช่าสำหรับนักลงทุนทั้งบริษัทไทย และบริษัทข้ามชาติที่จะมาจัดตั้งศูนย์วิจัย รวมถึงให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กเข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยีที่มีบริการอยู่ในบริเวณพื้นที่เดียวกัน (Proximity) โดยมีองค์ประกอบสำคัญดังนี้ คือ มีความเป็นเมือง (Smart Township) เช่น มีที่พักอาศัย ศูนย์การค้า สถานที่ออกกำลังกาย โรงเรียนและมหาวิทยาลัยชั้นนำ มหาวิทยาลัยนานาชาติมาตั้งอยู่เพื่อรองรับครอบครัวและบุตรของพนักงาน นักวิจัย นวัตกรและผู้เชี่ยวชาญ ทั้งคนไทยและต่างชาติที่ทำงานใน EECi และหน่วยงานที่อยู่ในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมนั้นๆ เป็นต้น
โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกได้เริ่มลงมือก่อสร้างแล้ว โดยเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในพิธีเปิดหน้าดิน (Groundbreaking Ceremony) และ คาดว่าจะเสร็จและเปิดใช้ได้ภายในปี 2564 โดยเขตนวัตกรรม phase แรกนี้จะประกอบด้วย เมืองนวัตกรรมขนาดใหญ่ 4 กลุ่ม คือ
(1) BIOPOLIS: เมืองนวัตกรรมชีวภาพ ปัจจุบันมี 3 สาขาเทคโนโลยีเป้าหมาย คือ นวัตกรรมเกษตร (Innovative Agriculture) เช่น plant factory, การผลิตสารที่ให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ (Functional Ingredient) และ เทคโนโลยีเคมีและชีวกระบวนการ (Chemical & Bioprocess Technology) เช่น Pilot plant GMP และ Non-GMP
(2) FOOD INNOPOLIS: เมืองนวัตกรรมอาหาร เพื่อยกระดับอาหารของไทยให้มีคุณภาพมาตรฐานสากลการตรวจสอบย้อนกลับได้ และเป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้า
(3) ARIPOLIS: เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
(4) SPACE INNOPOLIS: เมืองนวัตกรรมอวกาศ มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการบิน และอวกาศ
สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาจัดตั้งองค์กรในพื้นที่ EECi เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่สามารถใช้สอยร่วมกัน อาทิ อุปกรณ์/เครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบ โรงผลิตชิ้นงานต้นแบบ โคเวิร์คกิ้งสเปซ สนามทดลองและทดสอบ, สิทธิการเช่าที่ดินระยะยาวสำหรับจัดตั้งศูนย์วิจัย และการเช่าพื้นที่ในอาคารเพื่อการวิจัยและพัฒนา, การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี, อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 17% คงที่ สำหรับผู้เชี่ยวชาญ, ยกเว้นอากรนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการทำวิจัยและพัฒนา, วีซ่าทำงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ, พื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบในการทำนวัตกรรม (Regulatory Sandbox) ซึ่งผู้ประกอบการที่สนใจสิทธิประโยชน์ใดๆ หรือร่วมงานใน EECi สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมหรือติดต่อได้ที่ E-mail info@eeci.or.th
ปัจจุบันมี โรงเรียนกำเนดวิทย์(KVIS) มหาวิทยาลัยวิทยสิริเมธี (VISTEC; ข่าวสมาคมเยี่ยมชม VISTEC: http://www.thaibio.or.th/2019/07/08/VISTEC), Art gallery, Service apartment, สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน), ศูนย์ทดสอบด้านพิษวิทยา มาตั้งอยู่ในพื้นที่ EECi, และ ใกล้ๆกัน ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดระยอง มีโครงการ EECd ของกระทรวงดิจิตัล